ชื่อวิทยาศาสตร์ | Anethum graveolens L. |
ชื่อสามัญ | – |
วงศ์ | Apiaceae (Umbelliferae) |
ชื่ออื่น | มะแหลม, ผักหอมผอม, ผักหอมน้อย, เทียนตาตั๊กแตน |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
|
พืชล้มลุก อายุ 1-2 ปี ลำต้นเรียบและตั้งตรง สีเขียวอ่อน แตกกิ่ง ทั้งต้นมีกลิ่นหอม สูง 40-170 เซนติเมตร มีข้อปล้องเห็นได้ชัดเจน มีกาบใบหุ้มลำต้นเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม ใบรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ สีเขียวสด เมื่อดูแนวรูปใบโดยรวม มีขนาดกว้าง 11-20 เซนติเมตร ยาว 10-35 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกเป็นแฉกแบบขนนกหลายชั้น แฉกย่อยที่สุดมีลักษณะแคบยาวเป็นริ้ว กว้างน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร ยาว 4-20 มิลลิเมตร ก้านใบยาว 5-6 เซนติเมตร แผ่เป็นกาบ ดอก สีเหลือง ออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกซี่ร่มหลายชั้นหลวมๆ ก้านช่อดอกยาว 7-16 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก หรือไม่มี กลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลือง เกสรเพศผู้มี 5 อัน ติดบนฐานดอก เรียงสลับกับกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี 2 ช่อง ผลแก่แห้งไม่แตก รูปรี สีน้ำตาลอมเหลือง คล้ายตาตั๊กแตน ขนาดกว้างราว 2 มิลลิเมตร ยาวราว 4 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ผลแก่แห้งเรียกตามตำรายาไทยว่า “เทียนตาตั๊กแตน” เป็นตัวยาหนึ่งในพิกัดเทียนทั้งเจ็ด ใช้ปรุงยา และเป็นเครื่องเทศ ต้นและใบสด ใช้ปรุงอาหาร หรือเป็นผักจิ้ม จะเก็บต้นและใบสดก่อนออกดอก |
สรรพคุณ | ตำรายาไทย ต้น ใช้บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้สะอึก แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้เจ็บตา แก้ปวดท้องในเด็ก แก้บวม แก้เหน็บชา ต้นสด มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อกลากเกลื้อน ผลมีรสขม เผ็ดเล็กน้อย ใช้ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ไอ แก้หอบหืด แก้คลื่นไส้ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้เสมหะพิการ เจริญอาหาร แก้นอนสะดุ้ง คลุ้มคลั่ง ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด ฆ่าเชื้อบิดและเชื้อที่ทำให้ท้องเสีย เมล็ด ช่วยขับลม แก้หอบ บำรุงปอด แก้ไอ แก้ลมที่ทำให้สะอึก แก้ลมวิงเวียน แก้อาเจียน ใบ ช่วยในการทำงานของกระเพาะอาหาร ม้าม และตับ ราก แก้ระคายคอ ตำรายาพื้นบ้านล้านนา ทั้งต้น ต้มน้ำดื่มแก้หวัด |
แหล่งอ้างอิง | http://www.phargarden.com |