ชื่อวิทยาศาสตร์ | Sauropus androgynus (L.) Merr. |
ชื่อสามัญ | – |
วงศ์ | Euphorbiaceae |
ชื่ออื่น | ผักหวานใต้ใบ (สตูล) มะยมป่า (ประจวบคีรีขันธ์) ก้านตง ใต้ใบใหญ่ จ๊าผักหวาน ผักหลน (เหนือ) |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
|
ไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแข็ง ลำต้นกลมหรือค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ตั้งตรง เปลือกต้นขรุขระ สีน้ำตาล กิ่งอ่อนสีเขียวเข้มผิวเรียบ แตกกิ่งก้านระนาบกับพื้นหรือเกือบปรกดิน กิ่งเรียวงอเล็กน้อยตามข้อ ใบเดี่ยวเรียงสลับ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน รูปไข่แกมขอบขนาน รูปขอบขนาน หรือรูปคล้ายขนมเปียกปูน ยาว 4-8 เซนติเมตร กว้าง 2-5 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ สีเขียวเข้ม มีแถบสีขาวบริเวณกลางใบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีหูใบ มีใบประดับรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม ดอกเดี่ยว แยกเพศ ออกบริเวณซอกใบ เรียงตามก้านใบ โดยมีใบปรกอยู่ด้านบน ดอกขนาดเล็ก มี 2 ชนิด ตอนบนของกิ่งก้านจะเป็นดอกเพศเมีย ส่วนตอนล่างจะเป็นดอกเพศผู้ มีดอกเพศเมีย 1-3 ดอก ดอกเพศผู้จำนวนมาก ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ รูปจานกลมแบน สีน้ำตาลแดง ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร เกสรเพศผู้มี 3 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 3 แฉก ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ดอกสีเขียวอมเหลือง มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ รูปไข่กลับ เหลื่อมซ้อนกันคล้ายเรียงสองชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบเลี้ยงสีแดงเข้มหรือสีเหลืองจุดประสีแดงเข้ม ผลแห้ง แตกได้ ทรงกลมแป้น สีเขียวอ่อน ฉ่ำน้ำ ขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมื่อแก่เต็มที่มีสีขาวอมเหลือง มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดคงทน ภายในผลแบ่งเป็น 6 พู แต่ละพูมี 1 เมล็ดเมล็ดเป็นรูปครึ่งวงกลม เปลือกเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม หนา และแข็ง พบตามป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ ที่รกร้าง ป่าดิบชื้น ที่โล่งแจ้ง ตามเรือกสวน ออกดอกตลอดปี ยอดอ่อน เมื่อลวก นึ่ง ใช้รับประทานเป็นผัก |
สรรพคุณ | ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก ต้มน้ำดื่มและอาบ แก้ซาง ตำรายาไทย ใช้ ใบ รสหวานเย็น ปรุงเป็นยาเขียว แก้ไข้ ใช้น้ำยางหยอดตาแก้ตาอักเสบ รักษาแผลในจมูก ใบมีสาร papaverine กินมากจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ท้องผูก ใบและต้น มีรสหวานเย็น น้ำยางจากต้นและใบ ใช้หยอดตา แก้ตาอักเสบ ตำผสมกับรากอบเชยเป็นยาพอก รักษาแผลในจมูก ผสมกับสารหนูใช้ทาแก้โรคผิวหนังติดเชื้อ ใบและราก ตำให้ละเอียดใช้พอกฝี ราก รสเย็น ต้มเป็นยาแก้ไข้ ถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน แก้ไข้กลับ แก้ซาง แก้ปัสสาวะขัด ผิดสำแดง รักษาคางทูม แก้ลม มะเร็งคุด สารสกัดใบและลำต้นด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase เล็กน้อย ไม่มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในหนูทดลอง ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้โรคมะเร็งคุด ผสมกับสมุนไพรอื่น ฝนน้ำผสมข้าวเจ้า แก้ผิดเดือน ฝนทารักษาโรคมะเร็ง ที่มีอาการเจ็บ ร้อน ไหม้ ร่วมด้วย ฝนใส่ข้าวเจ้ากินรักษาโรคเลือดลม ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มูเซอ ใช้ ใบ ทั้งต้น ต้มน้ำอาบ และเคี้ยวกินแก้ปวดเมื่อยร่างกาย เป็นยาบำรุงสุขภาพสำหรับหญิงหลังคลอด |
แหล่งอ้างอิง | http://www.phargarden.com |